วันอังคารที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2559

45. การสอนให้เกิดความคิดสร้างสรรค์

45. การสอนให้เกิดความคิดสร้างสรรค์
          การสอนเพื่อพัฒนาความคิดสร้างสรรค์มีมากมายหลายวิธีแล้วแต่สาขาวิชา แต่โดยทั่วไปนิยมสอนตามแนวคิดของวิลเลี่ยมส์ ซึ่งส่งเสริมพฤติกรรมความคิดสร้างสรรค์ ด้านความรู้ เจตคติในห้องเรียนสอนให้ผู้เรียนรู้จักคิดและแสดงความรู้สึกหรือแสดงออกเชิงความคิดสร้างสรรค์ซึ่งมีกลวิธีการสอน 18 ลักษณะ ดังนี้
          1. การสอนให้แสดงความคิดเห็น
หมายถึงการสอนให้ผู้เรียนอยากแสดงความคิดเห็น ซึ่งมีตัวอย่างหลากหลายลักษณะ ดังนี้
• ขัดแย้งในตัวมันเอง ยกตัวอย่าง เช่น คนสวย มักไม่ฉลาด (โง่)
• ค้านกับสามัญสำนึก เช่น ถุงกระดาษใส่น้ำสามารถนำไปต้มให้น้ำสุกได้โดยถุงกระดาษไม่ไหม้ไฟ
• ความจริงที่ยากจะเชื่อหรืออธิบายได้ เช่น โรคกระเพาะเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย
• ความเชื่อที่ฝังใจมานาน เช่น สุริยคราสเกิดจากราหูอมพระอาทิตย์
          2. การพิจารณาคุณลักษณะ
หมายถึงการสอนให้ผู้เรียนคิดพิจารณาคุณลักษณะต่าง ๆ ของคน สัตว์สิ่งของแล้วให้แสดงความคิดเห็น ตัวอย่างเช่น
• การพิจารณาหาส่วนใดส่วนหนึ่งที่เห็นว่าแปลกไปจากอย่างอื่น เช่น คุณลักษณะของน้ำ
• บอกประโยชน์ของหนังสือพิมพ์มาให้มากที่สุด
          3. การเปรียบเทียบ
หมายถึงการเปรียบเทียบสิ่งของ สถานการณ์ โดยให้ผู้เรียนแสดงความคิดเห็นออกมา ตัวอย่างเช่น
• พืช และสัตว์ ต่างก็เป็นสิ่งมีชีวิตเหมือนกันให้บอกความแตกต่าง
• ลิงเป็นบรรพบุรุษของคนเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร
          4. การพิจารณาความไม่สมบูรณ์
หมายถึงการสอนให้ผู้เรียนแสดงความคิดเห็นของสิ่งที่ไม่สมบูรณ์ หรือผิดแผกไป
ตัวอย่าง เช่น
ขณะนี้อากาศร้อนมาก ท่านเคยอยู่ในห้องแอร์เย็นสบายแต่ตอนนี้ไฟฟ้าดับ
ท่านจะหาวิธีอย่างไรมาช่วยคลายร้อนให้กับตัวเอง แสดงความคิดเห็นมาเป็นข้อ ๆ
          5. การใช้คำถามยั่วยุ
หมายถึงการสอนโดยผู้สอนใช้คำถามยั่วยุ เร้าความรู้สึก หรือกระตุ้นให้ตอบ
ตัวอย่างเช่น
• ท่านเป็นหญิงมีเพื่อนชายชวนให้ไปอ่านหนังสือที่บ้านของเขาในตอนเย็น ท่านไม่อยากไปแต่ก็ไม่อยากให้เพื่อนชายเสียน้ำใจและโกรธท่าน
ท่านจะตอบปฏิเสธอย่างไร จึงจะนุ่มนวลที่สุด
• ถ้าท่านมีเงิน 1 ล้านบาท ท่านจะทำอย่างไร เพื่อให้ฐานะความเป็นอยู่ของท่านมั่นคงตลอดไป
          6. การสอนให้คิดเปลี่ยนแปลง
หมายถึงการสอนให้เกิดการคิดดัดแปลง ปรับปรุง สิ่งต่าง ๆ ให้อยู่ในรูปอื่น ๆ ที่คิดว่าสร้างสรรค์ ตัวอย่างเช่น
• การใช้ต้นผักตบชวามาทำเป็นเครื่องจักสานต่าง ๆ
• การใช้กะลามะพร้าวมาทำเป็นภาชนะเครื่องใช้ในบ้าน
• การใช้เกล็ดปลามาทำเป็นของชำร่วยให้ผู้เรียนจินตนาการ คิดหาวัสดุเหลือใช้อื่น ๆ มาทำเป็นของใช้หรือของชำร่วยเชิงสร้างสรรค์
          7. การเปลี่ยนแปลงความเชื่อ
หมายถึงการฝึกให้ผู้เรียนมีความยืดหยุ่นคลายความยึดมั่นยอมรับการเปลี่ยนแปลง
ตัวอย่างเช่น
• ถ้าได้กินตัวเดียวอันเดียวของกวาง จะช่วยเพิ่มสมรรถภาพทางเพศได้ท่านคิดเห็นเป็นอย่างไร
• ลูกผู้ชายต้องสูบบุหรี่เป็นดื่มเหล้าเป็นและเที่ยวผู้หญิงเป็นหรือมีเพื่อนหญิงหลายคน จึงจะถือว่าแน่เป็นชายชาตรี ให้ท่านแสดงความเห็น
          8. การดัดแปลงสิ่งใหม่จากสิ่งเดิม
หมายถึงการฝึกให้ผู้เรียนรู้จักสร้างสิ่งใหม่จากโครงสร้างหรือกฎเกณฑ์เดิม
ตัวอย่างเช่น
• การใช้แตงกวาแทนมะละกอในการทำส้มตำ (ฝึกปฏิบัติ)
• การเลือกใช้พลังงานอื่นทดแทนการใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงให้ยกตัวอย่างเป็นข้อ ๆ
          9. ทักษะการค้นคว้าหาข้อมูล
หมายถึงการฝึกให้ผู้เรียนรู้จักการหาข้อมูลหรือคำตอบด้วยตนเอง เพื่อตอบคำถามที่สนใจ ตัวอย่างเช่น
• เหล็กจมน้ำ แต่ทำไมเรือเหล็กจึงลอยน้ำได้ ให้อธิบาย
• ประเทศไทยเคยเป็นเจ้าภาพกีฬาเอเซี่ยนเกมส์กี่ครั้ง ในปี พ.ศ. ใดบ้าง และแต่ละครั้งได้เหรียญทองเท่าไร
          10. การค้นคว้าคำตอบจากคำถามที่ไม่ชัดเจน
หมายถึงการฝึกให้ผู้เรียนพยายามค้นหาคำตอบจากคำถามที่กำกวม ไม่ชัดเจน ตัวอย่างเช่น
• ผีมีในโลกนี้หรือไม่ ให้อภิปราย
• มีมนุษย์ต่างดาว หรือยาน UFO จริงหรือไม่ ให้อภิปราย
          11. การแสดงออกจากการหยั่งรู้
หมายถึงการฝึกให้ผู้เรียนรู้จักแสดงความรู้สึกที่เกิดจากสิ่งที่มาเร้าอวัยวะสัมผัส
ตัวอย่างเช่น
• ท่านเห็นฝูงชนขูดต้นไม้ประหลาดเพื่อหาเลขเด็ดไปแทงหวยใต้ดินท่านรู้สึกอย่างไร ให้แสดงความคิดเห็น
• ท่านเห็นคนนอนตายกลางถนนจากอุบัติเหตุรถชน ให้ท่านแสดงความรู้สึกโดยอภิปราย
          12. การพัฒนาปรับตัว
หมายถึงการฝึกให้ผู้เรียนรู้จักพิจารณาศึกษาจากความพลาดพลั้ง ล้มเหลวแล้วใช้เป็นบทเรียนสู่ความสำเร็จ ตัวอย่างเช่น
• ประเทศไทยเสียกรุงให้แก่พม่าครั้งแรกเพราะสาเหตุใด จงสรุปบทเรียนเพื่อเป็นแนวทางการป้องกันได้อย่างไร
• เศรษฐกิจฟองสบู่แตกทำให้บริษัทห้างร้านขาดทุน ปิดกิจการเกิดจากสาเหตุอะไร แนวทางในการป้องกันการเกิดซ้ำจะทำได้อย่างไร
          13. ลักษณะบุคคลสำคัญและกระบวนการคิดสร้างสรรค์
หมายถึงการศึกษาประวัติบุคคลสำคัญทั้งในแง่ลักษณะพฤติกรรมและกระบวนการคิดตลอดจนวิธีการและประสบการณ์สร้างสรรค์ของเขา ตัวอย่างเช่น
• บีโทเฟน นักดนตรีหูหนวกแต่ไม่ท้อถอย มุมานะสร้างสรรค์โลกให้งดงามด้วยเสียงดนตรีจนเป็นคีตกวีเอกของโลก ให้สรุปลักษณะเด่นของนักดนตรีเอกผู้นี้
• บิล เกตต์ ผู้พัฒนาซอฟแวร์คอมพิวเตอร์และบุกเบิกจนผู้คนยอมรับและ สามารถครองตลาดโลกคอมพิวเตอร์ไว้ได้ ขณะนี้เป็นบุคคลร่ำรวยที่สุดของโลก
ให้สรุปข้อเด่นของ บิล เกตต์ ว่าทำไมจึงประสบความสำเร็จ
          14. การประเมินสถานการณ์
หมายถึงการฝึกหาคำตอบโดยคำนึงถึงคำถามว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นแล้วจะเกิดผลอย่างไร
ตัวอย่างเช่น
• ถ้าท่านหลงทางในทะเลทราย ท่านอยากได้อะไรติดตัวไปกับท่าน เพื่อให้ท่านปลอดภัยและสามารถรอดตายกลับมาได้
• ถ้าโลกร้อนขึ้นจากปฏิกิริยาเรือนกระจกจะก่อผลเสียต่อโลกอย่างไรบ้าง
          15. พัฒนาทักษะการอ่านอย่างสร้างสรรค์
หมายถึงการฝึกแสดงความคิดภายหลังการอ่านหนังสือ หรือบทความดี ๆบางเรื่อง ตัวอย่างเช่น
• ให้ผู้เรียนอ่าน เรื่อง “ ก่องข้าวน้อยฆ่าแม่ ” แล้วแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องที่อ่าน
• ให้ผู้เรียนอ่านบทความเรื่อง “ โลกหลังยุค 2000 ” แล้วแสดงความคิดเห็นด้านการเรียนการสอนควรเป็นอย่างไร
          16. พัฒนาการฟังอย่างสร้างสรรค์
หมายถึงการฝึกให้ผู้เรียนคิดขณะฟังบทความหรือสุนทรพจน์แล้วแสดงความรู้สึก
ตัวอย่างเช่น
• ให้ผู้เรียนฟัง สุนทรพจน์ เรื่อง “ พระคุณของแม่ ” จากเทปแล้วแสดง
ความคิดเห็น
          17. พัฒนาการเขียนอย่างสร้างสรรค์
หมายถึงการฝึกให้ผู้เรียนแสดงความคิดเห็น ความรู้สึก ด้วยการเขียนบรรยาย
• ถ้าท่านได้รับคัดเลือกเป็นตัวแทนไปประเทศสหรัฐอเมริกา ท่านจะเตรียมอะไรไปแสดงให้ต่างชาติรู้จักวัฒนธรรมของชาติไทย
• ถ้าฝนไม่ตกตลอดปีพื้นที่แห้งแล้งชาวไร่ ชาวนาเดือดร้อน ท่านเป็นผู้นำท่านจะจัดการปัญหานี้อย่างไร
          18. ทักษะการใช้ภาพพรรณนา
หมายถึงการฝึกให้ผู้เรียนแสดงความรู้สึก ความคิดจากภาพในเชิงสร้างสรรค์
ตัวอย่างเช่น
          • วาดภาพให้เข้าใจได้ว่าสังคมปัจจุบันไร้พรมแดน
          • วาดภาพให้เข้าใจว่า ถ้าประเทศขาดต้นไม้แล้วจะเกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมาอย่างไรบ้าง
สรุป
          ทั้งหมดที่ยกตัวอย่างนี้ เป็นเพียงแนวทางของกลวิธีการสอนเพื่อแสดงให้เห็นเป็นข้อคิดสำหรับผู้สอนที่เริ่มเข้าใจ เรื่อง ความคิดสร้างสรรค์ และสามารถสร้างความคิด ความสนใจต่อเนื่องในการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ได้เป็นอย่างดี เปรียบประดุจต้นไม้ที่งอกจากเมล็ดซึ่งกำลังเติบโตขึ้นและมีความสวยงามได้จากการปรุงแต่งอย่างสร้างสรรค์ของผู้ดูแล
          กลวิธีการสอนความคิดสร้างสรรค์ยังมีอีกมากมายสมควรศึกษาเพิ่มเติม เพื่อให้เกิดแนวคิดในการประยุกต์ใช้เป็นวิธีการสอนให้เหมาะสมกับสาขาวิชาของตนเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น