วันพุธที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

ประตูสู่ความรู้ใหม่

วันเสาร์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2559

6 เทคนิค พัฒนาแผนการสอนสำหรับคุณครู

6 เทคนิค พัฒนาแผนการสอนสำหรับคุณครู

  • “แผนการสอน” นั้นถือเป็นหัวใจหลักที่สำคัญของการเรียนรู้สำหรับนักเรียน ซึ่งตัวครู-อาจารย์ก็ต้องใช้ทั้งเวลาและความรู้ในการวางแผนการสอนให้มี ประสิทธิภาพและประสิทธิผล รวมถึงให้เหมาะสมสำหรับการเรียนการสอนของเด็กแต่ละช่วงวัย 6 
  • เทคนิคต่อไปนี้ จะเป็นตัวช่วยให้อาจารย์ได้มีแนวทางไปประยุกต์ใช้ในการวางแผนการสอนได้อย่าง ครอบคลุมและจัดการให้เหมาะสมสำหรับนักเรียนของตน

1. กำหนดระยะเวลาที่แน่นอน
  • อันดับแรกเริ่มด้วยการกำหนดระยะในการวางแผนการสอนที่แน่นอน เพื่อให้มั่นใจว่า ตัวครู-อาจารย์จะไม่เสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์ในช่วงระยะเวลาที่สำคัญนี้

2. ใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์
  • เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ได้เกิดขึ้นมากมาย เพื่อให้ครู-อาจารย์นั้นสามารถนำไปประยุกต์ให้เกิดความสะดวกสบายมากขึ้น
  • เช่น การบันทึกแผนการสอนไวใน “Outlook” ซึ่งสามารถเพิ่มเติมได้ รวมไปถึงการใช้แอพพลิเคชั่นที่เรียกว่า “iDoceo” ที่สามารถนำมาปรับใช้กับเอกสารแผนการสอน 
  • และที่สำคัญเพื่อความปลอดภัยของเอกสาร ครู-อาจารย์ก็สามารถนำไปฝากไว้ใน “Google Drive” หรือระบบคลาวด์ 
  • ยิ่งถ้าหากครู-อาจารย์ต้องมีการทำงานร่วมกัน ก็ยังสามารถแบ่งปันเอกสารง่ายๆ ผ่านทาง “Google Drive”  รวมถึงการฝากไฟล์ในระบบคลาวด์ ก็ยังทำให้ครู-อาจารย์สามารถเปิดไฟล์เอกสารได้ จากทุกอุปกรณ์ 
  • และในการบันทึกแผนการสอนต่างๆ ที่พบบนเว็บไซต์ ก็สามารถใช้แอพพลิเคชั่นที่เรียกว่า “Evernote” เป็นต้น


3. ถามตัวเองเพื่อความมั่นใจ
  • ในการวางแผนการสอนนั้น ควรให้การมุ่งเน้นไปที่ว่า เด็กจะได้เรียนรู้อะไรและอย่างไรมากกว่าการมุ่งเน้นไปที่ตัวงาน โดยคำถามต่อไปนี้ จะเป็นตัวช่วยในการวางกรอบแนวความคิดในการพัฒนาแผนการสอนได้
    • 1. อะไรคือความรู้และทักษะที่สำคัญที่ต้องให้นักเรียนได้เรียนรู้ และจะสร้างสรรค์วิธีการท้าทายได้อย่างไร?
    • 2. อะไรที่เป็นความเข้าใจผิดที่มักเกิดขึ้นโดยทั่วไป แล้วตัวครู-อาจารย์เองจะป้องกันหรือขจัดออกไปได้อย่างไร?
    • 3. ครู-อาจารย์จะรู้ได้อย่างไรว่าพื้นฐานความรู้ของเด็กในเรียนในชั้นนั้นมีอะไรบ้าง?
    • 4. เมื่อไหร่ที่ครู-อาจารย์ สมควรจะแสดงให้เห็นถึงวิธีการที่จะนำความรู้และทักษะใหม่ๆ ไปใช้?
    • 5. คำถามอะไรที่ครู-อาจารย์ควรใช้ในห้องระหว่างการเรียนการสอน เพื่อให้แน่ใจว่านักเรียนเข้าใจในสิ่งที่กำลังเรียนรู้อยู่ในขณะนั้น
    • 6. คำถามอะไรที่จะสามารถใช้ท้าทายนักเรียนได้ เมื่อครู-อาจารย์นั้นมั่นใจแล้วว่า นักเรียนในชั้นรู้พื้นฐานที่สำคัญแล้ว
    • 7. จุดไหนในแผนการสอนที่จะเปิดโอกาสให้นักเรียนได้มีการฝึกปฏิบัติ โดยใช้ทักษะการเรียนรู้ใหม่ๆ ที่เพิ่งเรียนรู้
    • 8. เน้นย้ำในช่วงสุดท้ายของบทเรียน ยกตัวอย่างเช่น สิ่งไหนที่นักเรียนคิดว่าเป็นส่วนที่ยากที่สุดในบทเรียน เพื่อที่ว่า ในครั้งต่อไปจะกลับมาทบทวนหรือเน้นย้ำอีกครั้งได้


4. เรียนรู้จากสิ่งที่เป็นไปด้วยดี
  • การประเมินผลและการจัดการแผนการสอนนั้น จะก่อให้เกิดความเครียดน้อยลงและมีประสิทธิภาพมากขึ้น หากแต่ละบทเรียนนั้นมีข้อเสนอแนะที่สำคัญในสิ่งที่เป็นไปได้ด้วยดี และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ ลองใช้ช่วงเวลาท้ายของการประมวลแผนการสอนในการเน้นย้ำในสิ่งที่ควรปรับ เปลี่ยนที่ครู-อาจารย์ต้องทำในอนาคต

5. อย่าหมกมุ่นกับแผนการสอนจนเกินไป
  • การวางแผนการสอนนั้น ต้องอาศัยการคิดพิจารณาถึงรายละเอียดแบบแผน เพื่อไห้ถึงเป้าหมายที่ได้วางไว้ โดยในรายละเอียดแต่ละจุดแต่ละข้อนั้น ต้องมีมากพอที่จะสามารถจัดวางอยู่ในเส้นทางที่เหมาะสม โดยที่ก็สามารถให้ความยืดหยุ่นในรายละเอียด เพื่อการปรับเปลี่ยนแก้ไขในจุด ที่ไม่เหมาะสมได้ และการวางแผนนั้นต้องอาศัยจุดสำคัญที่น่าสนใจ ซึ่งอาจเปิดเป็นประเด็นคำถามเพื่อกระชับความเข้าใจสำหรับเด็กๆ อีกทั้งควรมีการเตรียมการล่วงหน้าในสิ่งที่เด็กอาจเกิดคำถามหรือไม่เข้าใจ และที่สำคัญจงจำไว้ว่าการวางแผนการสอนนั้น ก็เพื่อเสริมสร้างการเรียนการสอนของครู-อาจารย์ ไม่ใช่มีไว้เพื่อจำกัดความคิดของตน

6. สอนน้อยๆ แต่ย้ำเตือนบ่อยขึ้น
  • บางทีการเรียนการสอนที่ป้อนข้อมูลมากจนเกินไป อาจเกินความสามารถของเด็กที่จะเก็บเกี่ยวหรือรับรู้ได้ ในขณะที่การสอนที่น้อยและมีการให้เด็กๆ ได้มีโอกาสได้ทบทวนบ่อยๆ อาจทำให้เด็กๆ เกิดการเรียนรู้ ดังนั้นการวางแผนแต่ละบทเรียน อาจเพิ่มการเชื่อมโยงไปยังบทเรียนก่อนหน้า และทบทวนอีกครั้งในช่วงปลายเทอม เป็นต้น


เรียบเรียงบทความโดย CopyRight : มูลนิธิศักดิ์พรทรัพย์ www.kusol.org

วันอังคารที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2559

สูตรคณิตศาสตร์พื้นฐาน

50. รูปแบบการเรียนการสอนของการเรียนรู้แบบร่วมมือ (Instructional Models of Cooperative Learning)

50. รูปแบบการเรียนการสอนของการเรียนรู้แบบร่วมมือ      (Instructional Models of Cooperative Learning)

ก. ทฤษฎี/หลักการ/แนวคิดของรูปแบบ
          รูปแบบการเรียนการสอนของการเรียนรู้แบบร่วมมือพัฒนาขึ้นโดยอาศัยหลักการเรียนรูปแบบร่วมมือของจอห์นสัน และจอห์นสัน ( Johnson & Johnson, 1974 : 213 - 240 ) ซึ่งได้ชี้ให้เห็นว่าผู้เรียนควรร่วมมือกันในการเรียนรู้มากกว่าการแข่งขันกันเพราะการแข่งขันก่อให้เกิดสภาพการณ์ของ การแพ้-ชนะ ต่างจากการร่วมมือกัน ซึ่งก่อให้เกิดสภาพการณ์ของการชนะ-ชนะ อันเป็นสภาพการณ์ที่ดีกว่าทั้งทางด้านจิตใจและสติปัญญาหลักการเรียนรู้แบบร่วมมือ 5 ประการ ประกอบด้วย
          (1) การเรียนรู้ต้องอาศัยหลักการพึ่งพากัน (positive interdependence) โดยถือว่าทุกคน
มีความสำคัญเท่าเทียมกันและจะต้องพึ่งพากันเพื่อความสำเร็จร่วมกัน
          (2) การเรียนรู้ที่ดีต้องอาศัยการหันหน้าเข้าหากัน มีปฏิสัมพันธ์กัน (face to face interaction)
เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ข้อมูล และการเรียนรู้ต่าง ๆ
          (3) การเรียนรู้ร่วมกันต้องอาศัยทักษะทางสังคม (social skills) โดยเฉพาะทักษะในการทำงานร่วมกัน
          (4) การเรียนรู้ร่วมกันควรมีการวิเคราะห์กระบวนการกลุ่ม (group processing) ที่ใช้ใน การทำงาน
          (5) การเรียนรู้ร่วมกันจะต้องมีผลงานหรือผลสัมฤทธิ์ทั้งรายบุคคลและรายกลุ่มที่สามารถตรวจสอบและวัดประเมินได้ (individual accountability)หากผู้เรียนมีโอกาสได้เรียนรู้แบบร่วมมือกันนอกจากจะช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ทางด้านเนื้อหาสาระต่าง ๆ ได้กว้างขึ้นและลึกซึ้งขึ้นแล้ว ยังสามารถช่วยพัฒนาผู้เรียนทางด้านสังคมและอารมณ์มากขึ้นด้วย รวมทั้งมีโอกาสได้ฝึกฝนพัฒนาทักษะกระบวนการต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตอีกมาก

ข. วัตถุประสงค์ของรูปแบบ
          รูปแบบนี้มุ่งช่วยให้ผู้เรียนได้เรียนรู้เนื้อหาสาระต่าง ๆ ด้วยตนเองและด้วยความร่วมมือและความช่วยเหลือจากเพื่อน ๆ รวมทั้งได้พัฒนาทักษะทางสังคมต่าง ๆ เช่น ทักษะการสื่อสาร ทักษะ การทำงานร่วมกับผู้อื่น ทักษะการสร้างความสัมพันธ์ รวมทั้งทักษะการแสวงหาความรู้ ทักษะการคิด การแก้ปัญหาและอื่น ๆ

ค. กระบวนการเรียนการสอนของรูปแบบ
          รูปแบบการเรียนการสอนที่ส่งเสริมการเรียนรู้แบบร่วมมือมีหลายรูปแบบ ซึ่งแต่ละรูปแบบจะมีวิธีการดำเนินการหลัก ๆ ซึ่งได้แก่ การจัดกลุ่ม การศึกษาเนื้อหาสาระ การทดสอบ การคิดคะแนน และระบบการให้รางวัล แตกต่างกันออกไปเพื่อสนองวัตถุประสงค์เฉพาะแต่ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใด ต่างก็ใช้หลักการเดียวกันคือหลักการเรียนรู้แบบร่วมมือ 5 ประการและมีวัตถุประสงค์มุ่งตรงไป ในทิศทางเดียวกันคือเพื่อช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ในเรื่องที่ศึกษาอย่างมากที่สุดโดยอาศัย การร่วมมือกัน ช่วยเหลือกันและแลกเปลี่ยนความรู้กันระหว่างกลุ่มผู้เรียนด้วยกัน ความแตกต่างของรูปแบบแต่ละรูป จะอยู่ที่เทคนิคในการศึกษาเนื้อหาสาระและวิธีการเสริมแรงและการให้รางวัล เป็นประการสำคัญ

ที่มา : ทิศนา แขมมณี . (2548). ศาสตร์การสอน. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพมหานคร :จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เครื่องมือการจัดการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ 21

เครื่องมือการจัดการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ 21


49. กระบวนการเรียนการสอนของรูปแบบจิ๊กซอร์ ( Jigsaw )

49. กระบวนการเรียนการสอนของรูปแบบจิ๊กซอร์ ( Jigsaw )
          1 จัดผู้เรียนเข้ากลุ่มคละความสามารถ ( เก่ง-กลาง-อ่อน ) กลุ่มละ 4 คนและเรียกกลุ่มนี้ว่า กลุ่มบ้านของเรา (home group)
          2 สมาชิกในกลุ่มบ้านของเราได้รับมอบหมายให้ศึกษาเนื้อหาสาระคนละ 1 ส่วน (เปรียบเสมือนได้ชิ้นส่วนของภาพตัดต่อคนละ 1 ชิ้น) และหาคำตอบในประเด็นปัญหาที่ผู้สอนมอบหมายให้
          3 สมาชิกในกลุ่มบ้านของเรา แยกย้ายไปรวมกับสมาชิกกลุ่มอื่นซึ่งได้รับเนื้อหาเดียวกัน ตั้งเป็นกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ (expert group) ขึ้นมา และร่วมกันทำความเข้าใจในเนื้อหาสาระนั้นอย่างละเอียด และร่วมกันอภิปรายหาคำตอบประเด็นที่ผู้สอนมอบหมายให้
          4 สมาชิกกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ กลับไปสู่กลุ่มบ้านของเรา แต่ละกลุ่มช่วยสอนเพื่อนในกลุ่ม ให้เข้าใจสาระที่ตนได้ศึกษาร่วมกับกลุ่มผู้เชี่ยวชาญเช่นนี้ สมาชิกทุกคนก็จะได้เรียนรู้ภาพรวมของสาระทั้งหมด
          5 ผู้เรียนทุกคนทำแบบทดสอบ แต่ละคนจะได้คะแนนเป็นรายบุคคล และนำคะแนนของทุกคนในกลุ่มบ้านของเรามารวมกัน (หรือหาค่าเฉลี่ย ) เป็นคะแนนกลุ่ม กลุ่มที่ได้คะแนนสูงสุดได้รับรางวัล

ที่มา : ทิศนา แขมมณี. (2548). ศาสตร์การสอน. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพมหานคร : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

48. การเรียนการสอนของรูปแบบ เอส.ที.เอ.ดี. ( STAD )

48. การเรียนการสอนของรูปแบบ เอส.ที.เอ.ดี. ( STAD )
          STAD   คือ “Student Teams Achievement Division” กระบวนการดำเนินการมีดังนี้
          1 จัดผู้เรียนเข้ากลุ่มคละความสามารถ ( เก่ง - กลาง - อ่อน ) กลุ่มละ 4 คนและเรียกกลุ่มนี้ว่ากลุ่มบ้านของเรา (Home Group)
          2 สมาชิกในกลุ่มบ้านของเรา ได้รับเนื้อหาสาระและศึกษาเนื้อหาสาระนั้นร่วมกัน
เนื้อหาสาระนั้นอาจะมีหลายตอนซึ่งผู้เรียนอาจต้องทำแบบทดสอบในแต่ละตอนและเก็บคะแนนของตนไว้
          3 ผู้เรียนทุกคนทำแบบทดสอบครั้งสุดท้าย ซึ่งเป็นการทดสอบรวบยอดและนำคะแนนของตน
ไปหาคะแนนพัฒนาการ (Improvement Score) ซึ่งหาได้ดังนี้
คะแนนพื้นฐาน : ได้จากค่าเฉลี่ยของคะแนนทดสอบย่อยหลาย ๆ ครั้งที่ผู้เรียน แต่ละคนทำได้
คะแนนพัฒนาการ : ถ้าคะแนนที่ได้คือ
          - 11 ขึ้นไป คะแนนพัฒนาการ = 0
          - 1 ถึง -10 คะแนนพัฒนาการ = 10
          +1 ถึง +10 คะแนนพัฒนาการ = 20
          +11 ขึ้นไป คะแนนพัฒนาการ = 30
          4.4 สมาชิกในกลุ่มบ้านของเรานำคะแนนพัฒนาการของแต่ละคนในกลุ่มมารวมกัน เป็นคะแนนของกลุ่ม  กลุ่มใดได้คะแนนพัฒนาการของกลุ่มสูงสุด กลุ่มนั้นได้รางวัล
ที่มา : ทิศนา แขมมณี. (2548). ศาสตร์การสอน. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพมหานคร :จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

47. กระบวนการเรียนการสอนของรูปแบบ จี.ไอ. ( G.I. )

47. กระบวนการเรียนการสอนของรูปแบบ จี.ไอ. ( G.I. )
          G.I.  คือ “ Group Investigation ” รูปแบบนี้เป็นรูปแบบที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนช่วยกันไปสืบค้นข้อมูลมาใช้ในการเรียนรู้ร่วมกัน โดยดำเนินการเป็นขั้นตอน ดังนี้
          1 จัดผู้เรียนเข้ากลุ่มคละความสามารถ ( เก่ง-กลาง-อ่อน ) กลุ่มละ 4 คน
          2 กลุ่มย่อยศึกษาเนื้อหาสาระร่วมกัน โดย
                   ก. แบ่งเนื้อหาออกเป็นหัวข้อย่อย ๆ แล้วแบ่งกันไปศึกษาหาข้อมูลหรือคำตอบ
                   ข. ในการเลือกเนื้อหา ควรให้ผู้เรียนอ่อนเป็นผู้เลือกก่อน
          3 สมาชิกแต่ละคนไปศึกษาหาข้อมูล /คำตอบมาให้กลุ่ม กลุ่มอภิปรายร่วมกัน และสรุปผลการศึกษา
          4 กลุ่มเสนอผลงานของกลุ่มต่อชั้นเรียน
ที่มา : ทิศนา แขมมณี . (2548). ศาสตร์การสอน. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพมหานคร : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

46. กระบวนการเรียนการสอนของรูปแบบ แอล.ที. ( L.T )

46. กระบวนการเรียนการสอนของรูปแบบ แอล.ที. ( L.T )
          L.T.   คือ “Learning Together” ซึ่งมีกระบวนการที่ง่ายไม่ซับซ้อน ดังนี้
          1 จัดผู้เรียนเข้ากลุ่มคละความสามารถ ( เก่ง - กลาง - อ่อน ) กลุ่มละ 4 คน
          2 กลุ่มย่อยกลุ่มละ 4 คน ศึกษาเนื้อหาร่วมกันโดยกำหนดให้แต่ละคนมีบทบาทหน้าที่ช่วยกลุ่มในการเรียนรู้ ตัวอย่างเช่น
                   สมาชิกคนที่ 1 : อ่านคำสั่ง
                   สมาชิกคนที่ 2 : หาคำตอบ
                   สมาชิกคนที่ 3 : หาคำตอบ
                   สมาชิกคนที่ 4 : ตรวจคำตอบ
          3 กลุ่มสรุปคำตอบร่วมกัน และส่งคำตอบนั้นเป็นผลงานกลุ่ม
          4 ผลงานกลุ่มได้คะแนนเท่าไร สมาชิกทุกคนในกลุ่มนั้นจะได้คะแนนนั้นเท่ากันทุกคน
ที่มา : ทิศนา แขมมณี . (2548). ศาสตร์การสอน. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพมหานคร : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

45. การสอนให้เกิดความคิดสร้างสรรค์

45. การสอนให้เกิดความคิดสร้างสรรค์
          การสอนเพื่อพัฒนาความคิดสร้างสรรค์มีมากมายหลายวิธีแล้วแต่สาขาวิชา แต่โดยทั่วไปนิยมสอนตามแนวคิดของวิลเลี่ยมส์ ซึ่งส่งเสริมพฤติกรรมความคิดสร้างสรรค์ ด้านความรู้ เจตคติในห้องเรียนสอนให้ผู้เรียนรู้จักคิดและแสดงความรู้สึกหรือแสดงออกเชิงความคิดสร้างสรรค์ซึ่งมีกลวิธีการสอน 18 ลักษณะ ดังนี้
          1. การสอนให้แสดงความคิดเห็น
หมายถึงการสอนให้ผู้เรียนอยากแสดงความคิดเห็น ซึ่งมีตัวอย่างหลากหลายลักษณะ ดังนี้
• ขัดแย้งในตัวมันเอง ยกตัวอย่าง เช่น คนสวย มักไม่ฉลาด (โง่)
• ค้านกับสามัญสำนึก เช่น ถุงกระดาษใส่น้ำสามารถนำไปต้มให้น้ำสุกได้โดยถุงกระดาษไม่ไหม้ไฟ
• ความจริงที่ยากจะเชื่อหรืออธิบายได้ เช่น โรคกระเพาะเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย
• ความเชื่อที่ฝังใจมานาน เช่น สุริยคราสเกิดจากราหูอมพระอาทิตย์
          2. การพิจารณาคุณลักษณะ
หมายถึงการสอนให้ผู้เรียนคิดพิจารณาคุณลักษณะต่าง ๆ ของคน สัตว์สิ่งของแล้วให้แสดงความคิดเห็น ตัวอย่างเช่น
• การพิจารณาหาส่วนใดส่วนหนึ่งที่เห็นว่าแปลกไปจากอย่างอื่น เช่น คุณลักษณะของน้ำ
• บอกประโยชน์ของหนังสือพิมพ์มาให้มากที่สุด
          3. การเปรียบเทียบ
หมายถึงการเปรียบเทียบสิ่งของ สถานการณ์ โดยให้ผู้เรียนแสดงความคิดเห็นออกมา ตัวอย่างเช่น
• พืช และสัตว์ ต่างก็เป็นสิ่งมีชีวิตเหมือนกันให้บอกความแตกต่าง
• ลิงเป็นบรรพบุรุษของคนเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร
          4. การพิจารณาความไม่สมบูรณ์
หมายถึงการสอนให้ผู้เรียนแสดงความคิดเห็นของสิ่งที่ไม่สมบูรณ์ หรือผิดแผกไป
ตัวอย่าง เช่น
ขณะนี้อากาศร้อนมาก ท่านเคยอยู่ในห้องแอร์เย็นสบายแต่ตอนนี้ไฟฟ้าดับ
ท่านจะหาวิธีอย่างไรมาช่วยคลายร้อนให้กับตัวเอง แสดงความคิดเห็นมาเป็นข้อ ๆ
          5. การใช้คำถามยั่วยุ
หมายถึงการสอนโดยผู้สอนใช้คำถามยั่วยุ เร้าความรู้สึก หรือกระตุ้นให้ตอบ
ตัวอย่างเช่น
• ท่านเป็นหญิงมีเพื่อนชายชวนให้ไปอ่านหนังสือที่บ้านของเขาในตอนเย็น ท่านไม่อยากไปแต่ก็ไม่อยากให้เพื่อนชายเสียน้ำใจและโกรธท่าน
ท่านจะตอบปฏิเสธอย่างไร จึงจะนุ่มนวลที่สุด
• ถ้าท่านมีเงิน 1 ล้านบาท ท่านจะทำอย่างไร เพื่อให้ฐานะความเป็นอยู่ของท่านมั่นคงตลอดไป
          6. การสอนให้คิดเปลี่ยนแปลง
หมายถึงการสอนให้เกิดการคิดดัดแปลง ปรับปรุง สิ่งต่าง ๆ ให้อยู่ในรูปอื่น ๆ ที่คิดว่าสร้างสรรค์ ตัวอย่างเช่น
• การใช้ต้นผักตบชวามาทำเป็นเครื่องจักสานต่าง ๆ
• การใช้กะลามะพร้าวมาทำเป็นภาชนะเครื่องใช้ในบ้าน
• การใช้เกล็ดปลามาทำเป็นของชำร่วยให้ผู้เรียนจินตนาการ คิดหาวัสดุเหลือใช้อื่น ๆ มาทำเป็นของใช้หรือของชำร่วยเชิงสร้างสรรค์
          7. การเปลี่ยนแปลงความเชื่อ
หมายถึงการฝึกให้ผู้เรียนมีความยืดหยุ่นคลายความยึดมั่นยอมรับการเปลี่ยนแปลง
ตัวอย่างเช่น
• ถ้าได้กินตัวเดียวอันเดียวของกวาง จะช่วยเพิ่มสมรรถภาพทางเพศได้ท่านคิดเห็นเป็นอย่างไร
• ลูกผู้ชายต้องสูบบุหรี่เป็นดื่มเหล้าเป็นและเที่ยวผู้หญิงเป็นหรือมีเพื่อนหญิงหลายคน จึงจะถือว่าแน่เป็นชายชาตรี ให้ท่านแสดงความเห็น
          8. การดัดแปลงสิ่งใหม่จากสิ่งเดิม
หมายถึงการฝึกให้ผู้เรียนรู้จักสร้างสิ่งใหม่จากโครงสร้างหรือกฎเกณฑ์เดิม
ตัวอย่างเช่น
• การใช้แตงกวาแทนมะละกอในการทำส้มตำ (ฝึกปฏิบัติ)
• การเลือกใช้พลังงานอื่นทดแทนการใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงให้ยกตัวอย่างเป็นข้อ ๆ
          9. ทักษะการค้นคว้าหาข้อมูล
หมายถึงการฝึกให้ผู้เรียนรู้จักการหาข้อมูลหรือคำตอบด้วยตนเอง เพื่อตอบคำถามที่สนใจ ตัวอย่างเช่น
• เหล็กจมน้ำ แต่ทำไมเรือเหล็กจึงลอยน้ำได้ ให้อธิบาย
• ประเทศไทยเคยเป็นเจ้าภาพกีฬาเอเซี่ยนเกมส์กี่ครั้ง ในปี พ.ศ. ใดบ้าง และแต่ละครั้งได้เหรียญทองเท่าไร
          10. การค้นคว้าคำตอบจากคำถามที่ไม่ชัดเจน
หมายถึงการฝึกให้ผู้เรียนพยายามค้นหาคำตอบจากคำถามที่กำกวม ไม่ชัดเจน ตัวอย่างเช่น
• ผีมีในโลกนี้หรือไม่ ให้อภิปราย
• มีมนุษย์ต่างดาว หรือยาน UFO จริงหรือไม่ ให้อภิปราย
          11. การแสดงออกจากการหยั่งรู้
หมายถึงการฝึกให้ผู้เรียนรู้จักแสดงความรู้สึกที่เกิดจากสิ่งที่มาเร้าอวัยวะสัมผัส
ตัวอย่างเช่น
• ท่านเห็นฝูงชนขูดต้นไม้ประหลาดเพื่อหาเลขเด็ดไปแทงหวยใต้ดินท่านรู้สึกอย่างไร ให้แสดงความคิดเห็น
• ท่านเห็นคนนอนตายกลางถนนจากอุบัติเหตุรถชน ให้ท่านแสดงความรู้สึกโดยอภิปราย
          12. การพัฒนาปรับตัว
หมายถึงการฝึกให้ผู้เรียนรู้จักพิจารณาศึกษาจากความพลาดพลั้ง ล้มเหลวแล้วใช้เป็นบทเรียนสู่ความสำเร็จ ตัวอย่างเช่น
• ประเทศไทยเสียกรุงให้แก่พม่าครั้งแรกเพราะสาเหตุใด จงสรุปบทเรียนเพื่อเป็นแนวทางการป้องกันได้อย่างไร
• เศรษฐกิจฟองสบู่แตกทำให้บริษัทห้างร้านขาดทุน ปิดกิจการเกิดจากสาเหตุอะไร แนวทางในการป้องกันการเกิดซ้ำจะทำได้อย่างไร
          13. ลักษณะบุคคลสำคัญและกระบวนการคิดสร้างสรรค์
หมายถึงการศึกษาประวัติบุคคลสำคัญทั้งในแง่ลักษณะพฤติกรรมและกระบวนการคิดตลอดจนวิธีการและประสบการณ์สร้างสรรค์ของเขา ตัวอย่างเช่น
• บีโทเฟน นักดนตรีหูหนวกแต่ไม่ท้อถอย มุมานะสร้างสรรค์โลกให้งดงามด้วยเสียงดนตรีจนเป็นคีตกวีเอกของโลก ให้สรุปลักษณะเด่นของนักดนตรีเอกผู้นี้
• บิล เกตต์ ผู้พัฒนาซอฟแวร์คอมพิวเตอร์และบุกเบิกจนผู้คนยอมรับและ สามารถครองตลาดโลกคอมพิวเตอร์ไว้ได้ ขณะนี้เป็นบุคคลร่ำรวยที่สุดของโลก
ให้สรุปข้อเด่นของ บิล เกตต์ ว่าทำไมจึงประสบความสำเร็จ
          14. การประเมินสถานการณ์
หมายถึงการฝึกหาคำตอบโดยคำนึงถึงคำถามว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นแล้วจะเกิดผลอย่างไร
ตัวอย่างเช่น
• ถ้าท่านหลงทางในทะเลทราย ท่านอยากได้อะไรติดตัวไปกับท่าน เพื่อให้ท่านปลอดภัยและสามารถรอดตายกลับมาได้
• ถ้าโลกร้อนขึ้นจากปฏิกิริยาเรือนกระจกจะก่อผลเสียต่อโลกอย่างไรบ้าง
          15. พัฒนาทักษะการอ่านอย่างสร้างสรรค์
หมายถึงการฝึกแสดงความคิดภายหลังการอ่านหนังสือ หรือบทความดี ๆบางเรื่อง ตัวอย่างเช่น
• ให้ผู้เรียนอ่าน เรื่อง “ ก่องข้าวน้อยฆ่าแม่ ” แล้วแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องที่อ่าน
• ให้ผู้เรียนอ่านบทความเรื่อง “ โลกหลังยุค 2000 ” แล้วแสดงความคิดเห็นด้านการเรียนการสอนควรเป็นอย่างไร
          16. พัฒนาการฟังอย่างสร้างสรรค์
หมายถึงการฝึกให้ผู้เรียนคิดขณะฟังบทความหรือสุนทรพจน์แล้วแสดงความรู้สึก
ตัวอย่างเช่น
• ให้ผู้เรียนฟัง สุนทรพจน์ เรื่อง “ พระคุณของแม่ ” จากเทปแล้วแสดง
ความคิดเห็น
          17. พัฒนาการเขียนอย่างสร้างสรรค์
หมายถึงการฝึกให้ผู้เรียนแสดงความคิดเห็น ความรู้สึก ด้วยการเขียนบรรยาย
• ถ้าท่านได้รับคัดเลือกเป็นตัวแทนไปประเทศสหรัฐอเมริกา ท่านจะเตรียมอะไรไปแสดงให้ต่างชาติรู้จักวัฒนธรรมของชาติไทย
• ถ้าฝนไม่ตกตลอดปีพื้นที่แห้งแล้งชาวไร่ ชาวนาเดือดร้อน ท่านเป็นผู้นำท่านจะจัดการปัญหานี้อย่างไร
          18. ทักษะการใช้ภาพพรรณนา
หมายถึงการฝึกให้ผู้เรียนแสดงความรู้สึก ความคิดจากภาพในเชิงสร้างสรรค์
ตัวอย่างเช่น
          • วาดภาพให้เข้าใจได้ว่าสังคมปัจจุบันไร้พรมแดน
          • วาดภาพให้เข้าใจว่า ถ้าประเทศขาดต้นไม้แล้วจะเกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมาอย่างไรบ้าง
สรุป
          ทั้งหมดที่ยกตัวอย่างนี้ เป็นเพียงแนวทางของกลวิธีการสอนเพื่อแสดงให้เห็นเป็นข้อคิดสำหรับผู้สอนที่เริ่มเข้าใจ เรื่อง ความคิดสร้างสรรค์ และสามารถสร้างความคิด ความสนใจต่อเนื่องในการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ได้เป็นอย่างดี เปรียบประดุจต้นไม้ที่งอกจากเมล็ดซึ่งกำลังเติบโตขึ้นและมีความสวยงามได้จากการปรุงแต่งอย่างสร้างสรรค์ของผู้ดูแล
          กลวิธีการสอนความคิดสร้างสรรค์ยังมีอีกมากมายสมควรศึกษาเพิ่มเติม เพื่อให้เกิดแนวคิดในการประยุกต์ใช้เป็นวิธีการสอนให้เหมาะสมกับสาขาวิชาของตนเอง

44. การสอนแบบบูรณาการ (Integration Instruction)

44. การสอนแบบบูรณาการ (Integration Instruction)
          เป็นการสอนที่นำเอาศาสตร์สาขาวิชาต่างๆที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันเข้ามาผสมผสานกันเพื่อให้เกิดความรู้ที่หลากหลายและสอดคล้องกับชีวิตประจำวัน  จุดเน้นของการบูรณาการคือการองค์รวมของวิชามากกว่ารายละเอียดของวิชา  การบูรณาการจำแนกเป็นบูรณาการตามจำนวนผู้สอน ได้แก่ บูรณาการแบบผู้สอนคนเดียว  แบบคู่ขนาน แบบเป็นทีม  บูรณาการตามกลุ่มสาระการเรียนรู้  และบูรณาการแบบสหวิทยาการและแบบพหุวิทยาการ    ขั้นตอนของการบูรณาการมี ดังนี้
          1.  ศึกษาหลักสูตรการศึกษาในภาพรวม และวิเคราะห์มาตรฐานการเรียนรู้ แล้วจึงกำหนดสาระการเรียนรู้และผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง
          2.  จัดทำคำอธิบายรายวิชาและหน่วยการเรียนรู้
          3.  สร้างเครือข่ายการเรียนรู้ที่สัมพันธ์กันในแต่ละศาสตร์สาขาวิชาและทำแผนการเรียนรู้

43. วิธีการสอนแบบทดลอง

43. วิธีการสอนแบบทดลอง
            เป็นวิธีการสอนที่มุ่งเน้นให้นักเรียนเรียนรู้ด้วยการกระทำเป็นประสบการณ์ตรงหรือโดยการสังเกต  เป็นการนำรูปธรรมมาอธิบาย นักเรียนจะค้นหาข้อสรุปจากการทดลองนั้นด้วยตนเอง อาจสอนเป็นกลุ่มหรือรายบุคคลก็ได้  การทดลองแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ การทดลองแบบไม่มีกลุ่มเปรียบเทียบ และการทดลองที่มีกลุ่มเปรียบเทียบ  ซึ่งมีขั้นตอนการจัดการเรียนรู้ ดังนี้
           1. ขั้นเตรียม  เป็นขั้นของการกำหนดจุดประสงค์การเรียนรู้เพื่อให้สอดคล้องตามหลักสูตร มาตรฐานการเรียนช่วงชั้นหรือผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง รวมทั้งสอดคล้องกับเนื้อหาสาระ   จากนั้นจึงวางแผนการให้การเรียนรู้ด้วยการทดลอง มีการเตรียมวัสดุ สื่อ อุปกรณ์ หรือเอกสารต่างๆ ในการนี้ต้องตรวจสอบประสิทธิภาพของสื่อหรืออุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ในการทดลองด้วย
2. ขั้นทดลอง  เป็นขั้นของการดำเนินกิจกรรมการเรียนรู้ เริ่มต้นด้วยการนำเข้าสู่บทเรียน
แจ้งจุดประสงค์และเนื้อหาสาระการเรียนรู้ และแบ่งกลุ่มนักเรียนเป็นกลุ่มย่อยตามที่ต้องการ   จากนั้นจึงดำเนินการทดลองตามรูปแบบที่กำหนดไว้
           3. ขั้นเสนอผลการทดลอง  เป็นการนำเสนอผลการทดลองด้วยการสรุปขั้นตอนและผลการทดลอง รวมทั้งปัญหาและข้อเสนอแนะ   โดยกลุ่มของนักเรียนเองหรือผู้สอนร่วมกับนักเรียน
          ข้อดีของการสอนแบบทดลอง
1.  ผู้เรียนได้ปฏิบัติจริง และสามารถสรุปผลการทดลองได้ด้วยตนเอง
2.  เร้าใจให้อยากเรียนรู้และค้นหาคำตอบ
3.  มีทักษะในการเรียนรู้ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ฝึกความมีเหตุผล และมีระบบ
 ข้อจำกัดของการสอนแบบทดลอง
1.  ใช้เวลามากในการดำเนินกิจกรรมการทดลอง
             2.  ต้องระมัดระวังการทดลองบางอย่างที่อาจเกิดอันตรายหรือความผิดพลาดอุบัติเหตุ

42. วิธีสอนแบบสาธิต

42. วิธีสอนแบบสาธิต
            เป็นวิธีสอนที่ครูแสดงให้นักเรียนดูและให้ความรู้แก่นักเรียนโดยใช้สื่อการเรียนรู้ที่เป็นรูปธรรม และผู้เรียนได้ประสบการณ์ตรง    การสอนแบบสาธิตแบ่งออกเป็นประเภทต่างๆ ๆด้แก่ ผู้สอนเป็นผู้สาธิต   ผู้สอนและผู้เรียนร่วมกันสาธิต  ผู้เรียนสาธิตเป็นกลุ่ม  ผู้เรียนสาธิตเป็นรายบุคคล  วิทยากรเป็นผู้สาธิต  และการสาธิตแบบเงียบโดยให้นักเรียนสังเกตเอง
            ขั้นตอนของการสอนแบบสาธิต
1. ขั้นเตรียมการสอน
1.1 กำหนดจุดประสงค์การเรียนรู้โดยวิธีการสาธิต
1.2 ศึกษาเนื้อหาสาระให้ชัดเจน  และจัดลำดับให้เหมาะสม
1.3 เตรียมกิจกรรมให้ผู้เรียนปฏิบัติ
1.4 เตรียมสื่อ อุปกรณ์ เอกสารให้เพียงพอกับผู้เรียน
1.5 กำหนดเวลาการสาธิตให้พอเหมาะ
1.6 กำหนดวิธีการประเมินผล
1.7 เตรียมสภาพห้องเรียน
1.8 ทดลองสาธิตก่อนสอนจริงในห้องเรียน
2. ขั้นสาธิต
2.1 แจ้งจุดประสงค์การเรียนรู้ เนื้อหาสาระที่จะเรียนรู้
2.2 บอกให้นักเรียนรู้บทบาทของตนเอง ได้แก่ การทดลองปฏิบัติ การจดบันทึก การสรุป
2.3 แนะนำสื่อการเรียนรู้
2.4 ดำเนินการสาธิต
3. ขั้นสรุป
3.1 ผู้สอนและผู้เรียนร่วมกันสรุปผลที่เกิดจากการสาธิต
3.2 บันทึกขั้นตอนการสาธิตพร้อมทั้งผลที่เกิดขึ้น
4. ขั้นวัดและประเมินผล
4.1 ผู้เรียนทดลองสาธิตให้ผู้อื่นดูพร้อมทั้งบอกผลและข้อคิดที่ได้
4.2 ให้เขียนรายงาน ตอบคำถามจากแบบฝึกหัด และแสดงความคิดเห็น
ข้อดีของการสอนแบบสาธิต
1.  ผู้เรียนได้ประสบการณ์ตรง
2.  สร้างความสนใจ และความกระตือรือร้น
3.  ฝึกการสังเกต การสรุปผล การบันทึก และการจัดขั้นตอน
ข้อจำกัดของการสอนแบบสาธิต
1.  การสาธิตบางครั้งไม่สามารถใช้กับผู้เรียนกลุ่มใหญ่
2.  ผู้สอนต้องแนะนำขั้นตอน อุปกรณ์ ที่ใช้ในการสาธิตอย่างชัดเจน
                   3.  ผู้สอนต้องทดลองการสาธิตก่อนสอนให้แม่นยำเพื่อลดข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้น

41. วิธีสอนแบบเอ็กซ์พลิซิท (Explicit Teaching Method)

41. วิธีสอนแบบเอ็กซ์พลิซิท (Explicit Teaching Method)
          วิธีสอนแบบเอ็กซ์พลิซิท เป็นกระบวนการสอนที่เน้นการทบทวนประจำวัน ประจำสัปดาห์และประจำเดือน มีการตรวจสอบการบ้าน และมีขั้นตอนการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนตามจุดประสงค์การเรียนรู้สั้นๆ    เข้าใจง่ายได้คำตอบที่ถูกต้องรวดเร็วและแน่นอน
            ขั้นตอนของวิธีสอนแบบเอ็กซ์พลิซิท

ขั้นตอนที่ 1 ทบทวนประจำวันและตรวจสอบการบ้าน มีขั้นตอนดังนี้
1.1   ตรวจการบ้าน (ผู้สอนอาจให้ผู้เรียนช่วยกันตรวจการบ้าน)
1.2   สอนใหม่เมื่อจำเป็นในเนื้อหาที่สำคัญๆ
1.3   ทบทวนความรู้เดิมที่เกี่ยวข้องกับความรู้ใหม่และผู้สอนอาจซักถามเพิ่มเติม
1.4   ฝึกปฏิบัติ

ขั้นตอนที่ 2 การนำเสนอสาระความรู้ มีขั้นตอนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ดังนี้
2.1 แจ้งจุดประสงค์การเรียนรู้สั้นๆแต่เข้าใจง่าย
2.2 เสนอโครงสร้างและภาพรวมของสาระความรู้
1.3   เริ่มสอนเนื้อหาทีละน้อยทีละขั้น
1.4   ซักถามผู้เรียนเพื่อเป็นการตรวจสอบความเข้าใจ
1.5   เน้นประเด็นที่สำคัญให้ผู้เรียนทราบ
1.6   อธิบายให้ตัวอย่าง อย่างชัดเจน
1.7   สาธิตและทำแบบให้ดู
1.8   อธิบายรายละเอียดและยกตัวอย่างประกอบประเด็นเนื้อหาที่สำคัญๆ

ขั้นตอนที่ 3 การปฏิบัติโดยผู้สอนคอยแนะนำ มีขั้นตอนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ดังนี้
1.1    การฝึกผู้เรียนในระยะแรกผู้สอนควรคอยช่วยเหลือแนะนำโดยตลอด
1.2   ซักถามผู้เรียนบ่อยๆถามคำถามให้มากเพื่อให้ผู้เรียนตอบและให้ฝึกอย่างเพียงพอ
1.3   คำถามที่ถามควรเกี่ยวข้องกับเนื้อหาใหม่หรือทักษะใหม่
1.4   ผู้สอนตรวจสอบความเข้าใจโดยประเมินจากคำตอบของผู้เรียน
1.5   ระหว่างตรวจสอบความเข้าใจ ผู้สอนจะให้คำอธิบายเพิ่มเติม ให้ข้อมูลย้อนกลับหรืออธิบาย
ซ้ำ (ถ้าจำเป็น)  และให้ผู้เรียนมีการตอบสนองและให้ข้อมูลย้อนกลับ  ผู้สอนควรแน่ใจว่าผู้เรียนคนมีส่วนร่วมในการเรียนรู้
1.6   การให้ฝึกปฏิบัติในระยะแรก ผู้สอนควรคอยแนะนำจนผู้เรียนสามารถปฏิบัติเองโดยลำพัง
ภายหลัง

  • การฝึกปฏิบัติควรทำอย่างต่อเนื่องจนกว่าผู้เรียนจะชำนาญถึงขั้นที่ผู้เรียนทำได้ 80 %
  • ในขั้นตอนนี้มีข้อเสนอแนะในการตรวจสอบความเข้าใจเพื่อจะได้แก้ไขความผิดพลาด ความบกพร่อง ด้วยกิจกรรมดังนี้

1)      เตรียมคำถามไว้ล่วงหน้าให้มากเพื่อถามให้ผู้เรียนตอบอย่างทั่วถึงและคำตอบที่
ได้ควรเป็นคำตอบที่ตรงประเด็นสำคัญ หรือตรงตามในเรื่องหรือทักษะที่สอน
2)      ให้ผู้เรียนสรุปกฎหรือกระบวนการด้วยตนเอง
3)      ให้ผู้เรียนตอบโดยเขียนคำตอบในสมุด
4)      หลังจากการสอน ผู้สอนควรให้ผู้เรียนเขียนสาระหรือประเด็นสำคัญของบทเรียน
และสรุปประเด็นสำคัญลงในสมุด

  • ดังนั้นการตรวจสอบความเข้าใจจึงมีความสำคัญและจำเป็นเพื่อเป็นการทบทวนเนื้อหาสาระที่

เรียนผ่านมาและย้ำเพื่อความเข้าใจของผู้เรียน

ขั้นตอนที่ 4 การแก้ไขให้ถูกต้อง และการให้ข้อมูลย้อนกลับ มีขั้นตอน ดังนี้
1.1  ผู้สอนควรรับรู้และตอบรับคำตอบที่รวดเร็วและมั่นใจของผู้เรียนอย่างสั้นๆ เช่น ถูกต้อง หรือคำชมอื่นๆ
4.2 คำตอบที่ลังเลของผู้เรียน ผู้สอนอาจต้องให้ข้อมูลย้อนกลับ ให้ตอบอย่างมั่นใจ
4.3 การตอบผิดหรือปฏิบัติผิดของผู้เรียนบ่งบอกถึงความจำเป็นในการฝึกเพิ่ม
1.4  ตรวจสอบติดตามบทเรียนของผู้เรียนเสมอ
1.5  พยายามให้การตอบสนองทุกคำถามที่ผู้เรียนถาม
1.6  การแก้ไขการตอบผิดของผู้เรียน ผู้สอนควรให้ข้อมูลเพิ่มเติม เช่น ถามคำถามให้ง่ายขึ้น ให้
คำแนะนำ อธิบาย ทบทวน หรือสอนใหม่ในขั้นสุดท้าย
1.7  ถามคำถามซ้ำจนกว่าจะถูกต้อง
1.8  การให้ฝึกปฏิบัติโดยผู้สอนคอยแนะนำการแก้ไขควรทำต่อไป จนกว่าผู้สอนจะแน่ใจว่าผู้เรียน
บรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ของบทเรียน
1.9  ให้คำชมเชยแต่พอควร ในเรื่องที่เฉพาะเจาะจง จะทำให้มีประสิทธิภาพมากกว่าการ
ชมเชยแบบพร่ำเพรื่อ
            ในประเด็นของการให้ข้อมูลย้อนกลับเพื่อแก้ไขข้อผิดพลาดของผู้เรียนมีข้อเสนอเพื่อการตอบสนองคำตอบของผู้เรียน ดังนี้
1)  ตอบถูกต้องเร็วด้วยความมั่นใจในคำตอบโดยปกติพฤติกรรมผู้เรียน จะปรากฏในช่วง
การเรียนตอนแรกๆ ตอนที่มีการทบทวน ผู้ควรถามคำถามใหม่ๆ พร้อมทั้งมีการฝึกเพิ่มเติมและกล่าวคำชมเชย
2)  ตอบถูกแต่ลังเลไม่แน่ใจ จะปรากฏในการเรียนในตอนต้นหรือในช่วงให้ฝึกโดยมีผู้สอนคอย
แนะนำ ผู้สอนควรให้ข้อมูลย้อนกลับหรือตอบสนองกลับด้วยคำพูดสั้นๆ เช่น ถูกต้อง ดีมาก การให้ข้อมูลย้อนกลับในลักษณะนี้ผู้สอนควรให้ข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจว่าคำตอบนั้นถูกต้องเพราะอะไร
3)  ถ้าผู้เรียนตอบผิดเพราะสะเพร่าควรให้การทบทวนแก้ไขและให้ข้อมูลย้อนกลับทันที
4)  ตอบผิดเพราะไม่มีความรู้ ไม่จำเนื้อหาสาระ  ผู้เรียนที่ตอบผิดในช่วงต้นซึ่งเป็นระยะการ
เรียนเนื้อหาสาระใหม่ ชี้ให้เห็นว่า มีความรู้ไม่แน่นพอ ไม่รู้จริงเกี่ยวกับสาระความรู้นั้น ผู้สอนควรแก้ไขดังนี้
4.1) ครูชี้นำเสนอแนะแนวทางเพื่อให้ได้คำตอบที่ถูกต้อง โดยถามคำถามใหม่และง่าย
พร้อมทั้งยกตัวอย่างและเหตุผลประกอบ
4.2) สอนใหม่ สำหรับนักเรียนที่ไม่เข้าใจ
4.3) บอกเป็นนัย ถามคำถามที่ง่ายๆ หรือทำการสอนใหม่
การให้ข้อมูลย้อนกลับเป็นองค์ประกอบสำคัญเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้ได้ประการหนึ่ง

ขั้นตอนที่  5 การฝึกอย่างอิสระ (ฝึกปฏิบัติที่โต๊ะ)  มีข้อเสนอแนะการจัดการเรียนรู้ ดังนี้
1.1   ให้นักเรียนฝึกอย่างเพียงพอ
1.2   ฝึกทักษะเนื้อหาสาระที่เรียนไปแล้ว
1.3   ฝึกเพื่อให้เกิดความชำนาญ
1.4   การฝึกปฏิบัติโดยลำพัง ควรปฏิบัติได้ถูกต้อง 95%
1.5   นักเรียนจะตื่นตัว ถ้าการให้ฝึกปฏิบัติ ได้โดยมีการติดตามตรวจสอบ
1.6   กระตุ้นให้นักเรียนมีความรับผิดชอบในงานที่ตนเองปฏิบัติ และมีความกระตือรือร้นเสมอ
การฝึกปฏิบัติที่โต๊ะเพื่อให้การปฏิบัติกิจกรรมโดยลำพังที่มีประสิทธิภาพ ควรปฏิบัติดังนี้
            1) ครูควรเดินดูนักเรียนทำงาน ให้ข้อมูลย้อนกลับ ถามคำถามและอธิบายสั้นๆ อย่างทั่วถึง
            2)  ครูควรจัดที่นั่งให้มองเห็นนักเรียนทั้งชั้นในขณะปฎิบัติงาน
            3) ครูควรวางแผนการปฏิบัติกิจกรรมโดยให้นักเรียนฝึกปฏิบัติอย่างอิสระและประสบผลสำเร็จ ครูต้องจัดกิจกรรมให้เป็นไปตามจุดประสงค์ มีการเตรียมการฝึกให้พร้อม และเพียงพอสำหรับนักเรียนทุกคน และต้องเป็นกิจกรรมที่มีประสิทธิภาพ โดยความมุ่งหวังให้นักเรียนสามารถตอบได้โดยอัตโนมัติ โดยการที่ให้นักเรียนฝึกปฏิบัติมาก ๆ

ขั้นตอนที่  6 การทบทวนรายสัปดาห์และรายเดือน   มีข้อเสนอการจัดการเรียนรู้ดังนี้
            6.1 ทบทวนเนื้อหาที่เรียนไปแล้วอย่างเป็นระบบโดยทบทวนเป็นประจำสัปดาห์ และทบทวนประจำเดือน การทบทวนของครูช่วยให้ครูได้ตรวจสอบความเข้าใจของนักเรียน และเพื่อให้แน่ใจว่าความรู้ทักษะที่เรียนไปแล้ว   นักเรียนรู้และปฏิบัติเข้าใจเป็นอย่างดีและเพื่อความคงทนของความรู้
1.2 ตรวจการบ้านที่ให้ทำ
1.3 ทดสอบบ่อย ๆ
                1.4 สอนใหม่ในเนื้อหาที่บกพร่อง

40. วิธีสอนแบบแบ่งกลุ่มระดมพลังสมอง

40. วิธีสอนแบบแบ่งกลุ่มระดมพลังสมอง
          เป็นวิธีสอนที่ครูแบ่งนักเรียนเป็นกลุ่มย่อย กลุ่มละ 8-10 คน หรืออย่างมากไม่เกิน 15 คน ครูและนักเรียนร่วมกันกำหนดปัญหาในการระดมพลังสมองโดยใช้เวลาสั้นๆ ประมาณ 10-15 นาที แต่ละกลุ่มมีประธานกลุ่มเลขานุการกลุ่ม ประธานเป็นผู้ส่งเสริมให้สมาชิกในกลุ่มแสดงความคิดเห็น ซึ่งความคิดเห็นไม่มีการตำนิว่า “ถูก” หรือ ”ผิด” และเลขานุการมีหน้าที่จดบันทึกโดยไม่คำนึงถึงความสำคัญก่อนหลัง จากนั้นผู้แทนกลุ่มนำมารายงานให้กลุ่มใหญ่ในชั้นเรียนทราบผลการระดมพลังสมอง